สัญญาณที่บอกว่าแมวของคุณกำลังเศร้าและคุณจะช่วยได้อย่างไร
ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจความเศร้าเสียใจของแมว เนื่องจากเจ้าเหมียวมักถูกมองว่าเป็นสัตว์อิสระที่ยังมีนิสัย ‘สัตว์ป่า’ อยู่มาก แต่แมวแสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการสูญเสียแมวอีกตัว และบางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้ก็เข้าใจได้ยาก
เมื่อสัตว์มีความผูกพันใกล้ชิดกัน พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะเสียใจเมื่อสูญเสียเพื่อนของตัวเองไป แม้แต่แมวที่ต่อสู้กันอยู่บ่อยๆ ก็สามารถเศร้าเสียใจเมื่อศัตรูของตนจากไปได้ แม้ว่าจะไม่มีใครรู้ว่าแมวจะเข้าใจเรื่องความตายหรือไม่ แต่เหล่าเจ้าเหมียวรู้แน่นอนว่าเพื่อนร่วมชายคาของพวกเขาหายไป และมีบางสิ่งในบ้านเปลี่ยนแปลงไป ความเสียใจของเจ้าของที่สูญเสียสัตว์เลี้ยงไปอาจสื่อสารถึงแมวได้ด้วย ซึ่งจะเพิ่มความรู้สึกสับสนกระวนกระวายที่อาจก่อตัวขึ้นในจิตใจของเจ้าแมว
สัญญาณที่บ่งบอกอาการเศร้าเสียใจ
ไม่มีวิธีใดจริงๆ ที่จะทำนายได้ว่าแมวมีแนวโน้มการแสดงออกแบบใดเมื่อเพื่อนจากไป ความรู้สึกของแมวบางตัวก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับการกระทบกระเทือนใดๆ เลย และดูยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปด้วยซ้ำเมื่อเพื่อนร่วมชายคาหายตัวไป แมวตัวอื่นๆ อาจหยุดกินอาหารและหมดความสนใจในสิ่งรอบตัวต่างๆ โดยจะเพียงแค่นั่งและจ้องมอง พวกเขาดูเหมือนจะซึมเศร้า แมวบางตัวมีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกหรือด้านพฤติกรรมเมื่อเพื่อนแมวด้วยกันหายจากไป
ยังไม่มีงานวิจัยหลักเกี่ยวกับการสูญเสียคนที่รักจากความตาย แต่การสำรวจขององค์กร American Society for the Prevention of Cruelty to Animals ก็ชี้ให้เห็นว่าแมวจะกินอาหารได้น้อยลง นอนหลับมากขึ้น และจะส่งเสียงออกมามากขึ้นหลังเพื่อนแมวด้วยกันตายจากไป แต่ยังพอใจชื้นอยู่บ้าง เพราะจากการสำรวจ 160 ครัวเรือน สัตว์เลี้ยงทุกตัวที่สูญเสียเพื่อนไป จะมีพฤติกรรมเป็นปกติภายใน 6 เดือน
เราจะช่วยเหลือแมวอย่างไร
มีหลายสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อช่วยแมวที่กำลังเสียใจให้เอาชนะความรู้สึกสูญเสีย การเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุดจะช่วยให้เวลาแก่เจ้าเหมียวค่อยๆ ชินกับความสูญเสียของเพื่อนเหมียวร่วมบ้าน คงกิจวัตรตามปกติของแมวให้เหมือนเดิม การเปลี่ยนเวลาให้อาหารหรือแม้แต่การย้ายข้าวของโดยรอบสามารถทำให้แมวเครียดกว่าเดิมได้ แมวที่กำลังเสียใจอาจไม่กินอาหาร แมวที่ไม่กินอาหารหลายวันมีแนวโน้มจะเป็นโรคตับล้มเหลวได้หรือที่เรียกว่าเป็นภาวะไขมันพอกตับในแมว ดังนั้นคุณจึงควรช่วยให้แมวกินอาหารโดยการอุ่นอาหารเพียงเล็กน้อย หรือใส่น้ำหรือน้ำที่ได้จากการต้มเนื้อสัตว์ลงไปด้วย นั่งอยู่กับเจ้าเหมียวของคุณในเวลามื้ออาหารเพื่อให้แน่ใจว่าเขากินอาหาร อย่าพยายามเปลี่ยนอาหารเพื่อกระตุ้นความอยากอาหารของเจ้าเหมียว เนื่องจากอาจทำให้ท้องไส้เขาปั่นป่วนได้ ถ้าแมวไม่กินอาหารเป็นเวลา 3 วัน ให้ปรึกษาสัตวแพทย์
ช่วงเวลาคุณภาพ
ใช้เวลากับเจ้าเหมียวที่กำลังเศร้าให้มากขึ้น สัมผัสและเล่นกับเขา วิธีนี้จะช่วยเสริมความรู้สึกในทางบวกต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในบ้านที่แมวรู้สึกได้ อย่าพยายามนำแมวตัวใหม่เข้ามาแทนที่แมวที่จากไปในทันที แม้ว่าแมวที่เหลืออยู่ในบ้านของคุณอาจสูญเสียเพื่อนรักของเขาไป แต่เขาก็มีแนวโน้มที่จะไม่ต้อนรับแมวแปลกหน้าเมื่อยังทำใจไม่ได้กับความสูญเสีย และหากมีแมวตัวใหม่เข้ามาในเวลานี้ ก็จะเป็นการเพิ่มความเครียดขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับสัตว์หลายสายพันธุ์ แมวจะใช้เวลาไปกับการดอมดมหรือดุนจมูกที่ร่างของเพื่อนแมวที่ตายไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญของขั้นตอนการแสดงความเสียใจ ดังนั้นการนำร่างแมวที่ถูกการุณยฆาตกลับบ้านอาจเป็นประโยชน์มากกว่าการเผาศพแมวที่คลินิก เมื่อใดก็ตามที่แมวมีการเปลี่ยนพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดมาก ควรพาแมวไปให้สัตวแพทย์ตรวจเสมอเพื่อระบุปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญใดๆ ปัญหาทางพฤติกรรมที่แก้ไขไม่ได้สามารถส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์ดูแล
ความช่วยเหลือสำหรับผู้สูญเสียสัตว์เลี้ยง
การช่วยให้เจ้าเหมียวของคุณเอาชนะความเศร้าโศกเสียใจได้นั้นอาจยากเป็นพิเศษ ถ้าหากคุณเองก็โศกเศร้าเสียใจกับการจากไปของเจ้าเหมียวสุดที่รักของคุณเช่นกัน บางครั้งการแบ่งปันความรู้สึกกับใครบางคนที่เคยมีประสบการณ์นี้มาก่อนอาจช่วยได้ คนๆ นั้นจะเข้าใจว่าการสูญเสียสัตว์เลี้ยงไปนั้นน่าเศร้าเสียใจเพียงใด บริการช่วยเหลือในภาวะสูญเสียสัตว์เลี้ยง (Pet Bereavement Support Service) เป็นบริการสายด่วนทางโทรศัพท์แบบลับที่ให้ความช่วยเหลือผ่านเครือข่ายทั่วประเทศโดยมีอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกฝนที่เป็นเพื่อนให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ สายให้ความช่วยเหลือดำเนินการโดยองค์กรการกุศล 2 แห่งคือ The Blue Cross และ The Society for Companion Animal Studies สายให้ความช่วยเหลือเปิดให้บริการทุกวันเวลา 8:30 น. - 17:30 น. และให้บริการทางโทรศัพท์นอกเวลาทำการด้วย
หากต้องการโทรติดต่อ โปรดโทรไปที่หมายเลขโทรศัพท์โทรฟรี: 0800 096 6606
ผู้ประสานงานจะให้รายละเอียดเพื่อนให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์โดยเร็วที่สุด อ้างอิง: กระดานคำปรึกษาสำหรับแมว - www.fabcats.org