อาการร้อนเกินไปในสุนัขเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ขณะที่อากาศร้อนขึ้น คุณจำเป็นต้องทราบว่าความร้อนมีผลกระทบต่อลูกสุนัขของคุณอย่างไรบ้าง โรคเพลียแดดในสุนัขอาจนำไปสู่ภาวะรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น โรคลมแดด และภาวะหัวใจหยุดเต้น เพื่อช่วยให้สุนัขของคุณปลอดภัยและเย็นสบายในช่วงฤดูร้อน ต่อไปนี้คือรายละเอียดสำคัญของอาการที่บ่งบอกว่าเจ้าตูบกำลังมีอาการร้อนเกินไปและวิธีป้องกัน: คำใบ้คือ ให้เจ้าตูบของคุณดื่มน้ำสักนิดเพื่อคลายร้อน
โรคเพลียแดดและโรคลมแดด
สุนัขไม่สามารถระบายความร้อนของร่างกายออกมาทางเหงื่อได้เหมือนคน แม้ว่าสุนัขของคุณพอจะมีต่อมเหงื่ออยู่บ้างในอุ้งเท้าของเขา แต่ก็ไม่ได้ช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้มากนัก เจ้าตูบระบายความร้อนด้วยวิธีอ้าปากหายใจเร็วๆ ที่เรียกว่าหายใจหอบแทน แต่บางครั้งการหายใจหอบก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยป้องกันไม่ให้สุนัขมีอาการร้อนเกินไปได้
โรคเพลียแดดในสุนัขเกิดขึ้นได้เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากกว่าปกติ จากข้อมูลบนเว็บไซต์ PetMD.com ระบุว่า หลักเกณฑ์เรื่องอุณหภูมิอาจแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือตั้งแต่ 39.4 องศาเซลเซียสขึ้นไปถือว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ หากอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 41.1 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า ลูกสุนัขของคุณจะตกอยู่ในอันตรายของความเสี่ยงต่อโรคลมแดด ซึ่งเป็นภาวะที่อวัยะในร่างกายและหัวใจของเขาหยุดทำงานพร้อมกัน
อาการเตือน
โชคดีที่อาการร้อนเกินไปในสุนัขนั้นสังเกตได้ไม่ยาก อาการแรกที่เกิดขึ้นคือหายใจหอบมากผิดปกติ จากข้อมูลขององค์กร American Kennel Club Canine Health Foundation ระบุว่า สุนัขที่มีอาการร้อนเกินไปอาจหมดสติ หรือมีอาการชัก อาเจียน หรือท้องร่วง และอาจมีอาการเหงือกหรือลิ้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือแดงสด คุณควรสังเกตเห็นอาการก่อนที่สุนัขจะมีอาการหนัก เพื่อให้ช่วยเหลือได้ทันและป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้อนเกินไปที่รุนแรง อาการแรกเริ่มนั้นดูยากสักหน่อย สุนัขของคุณอาจดูเหมือนแค่ไม่ค่อยทำตามคำสั่งเหมือนอย่างเคย เมื่อคุณเรียกชื่อของเขา แทนที่เจ้าตูบจะหันมามองคุณ เขาอาจจะเดินหนี หากมีอาการน่าสงสัย ควรทำให้สุนัขของคุณหายร้อนทันที องค์กร The Humane Society of the United States ให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยระบุว่า อาการที่บ่งบอกว่าสุนัขอาจกำลังเป็นโรคลมแดด ได้แก่ เหม่อลอย น้ำลายยืดมากผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนหรือสูญเสียการทรงตัว มีไข้ เซื่องซึม และหมดสติ
ปัจจัยเสี่ยง
ในขณะที่สุนัขทุกตัวล้วนมีโอกาสเกิดอาการร้อนเกินไปหากอยู่ในสภาวะเสี่ยง แต่สุนัขบางสายพันธุ์มีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ สุนัขสายพันธุ์ดังกล่าวได้แก่ สุนัขที่มีขนหนาหรือขนยาว สุนัขที่มีอายุน้อยมากหรือแก่มาก และสุนัขพันธุ์ที่มีหน้าสั้น (Brachycephalic) ซึ่งหมายถึงสุนัขที่มีจมูกสั้นและหน้าแบน เช่น ชิสุ ปั๊ก บ็อกเซอร์ และบูลด็อก สุนัขที่มีน้ำหนักเกินและสุนัขที่มีปัญหาสุขภาพอันก่อให้เกิดการหายใจลำบากหรือสุนัขที่เป็นโรคหัวใจ มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าปกติ
สุนัขที่กระตือรือร้นมากๆ และสุนัขทำงาน หรือสุนัขล่าเนื้อ (เช่น สายพันธุ์เชพเพิร์ด รีทรีฟเวอร์ และสแปเนียล) ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน โดยเฉพาะในเดือนที่อากาศร้อน คุณควรระวังไม่ให้สุนัขเหล่านี้ออกแรงมากเกินไป อย่าลืมให้พวกเขาหยุดพักในร่มบ่อยๆ และดื่มน้ำเยอะๆ ตลอดวัน
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมก็ยังสามารถทำให้สุนัขมีความเสี่ยงต่อการเพลียแดดด้วย คุณควรทราบว่าไม่เพียงแต่อุณหภูมิที่สูงเท่านั้น ความชื้นสูงก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงของอาการเพลียแดดในสุนัขได้เช่นกัน สุนัขทุกตัวมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเพลียแดดสูงขึ้นหากพวกเขาไม่ได้พักผ่อนในที่ร่มหรือที่เย็นๆ ในบ้าน และสุนัขที่ถูกทิ้งไว้ในรถที่มีความร้อนอบอ้าวจะได้รับอันตรายร้ายแรงจากอาการเพลียแดดและโรคลมแดด
สิ่งที่ควรทำเมื่อสุนัขของคุณมีอาการร้อนเกินไป
ทันทีที่พบว่าสุนัขของคุณมีอาการร้อนเกินไป คุณควรทำให้เขาเย็นลงทันที เว็บไซต์ Vetstreet แนะนำขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อรักษาอาการเพลียแดดในสุนัข
- พาสุนัขของคุณไปอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นกว่าทันที ไม่ว่าจะเป็นในบ้านที่มีเครื่องปรับอากาศหรือในร่มที่มีพัดลม
- ใช้ที่วัดไข้ทางทวารหนักเพื่อตรวจอุณหภูมิร่างกายของเจ้าตูบ อาการเพลียแดดมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายสุนัขมีอุณหภูมิระหว่าง 39.4 - 41.1 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 41.1 องศาเซลเซียส เจ้าตูบมีความเสี่ยงเป็นโรคลมแดด หากสุนัขอยู่ในภาวะที่เป็นอันตราย โปรดโทรปรึกษาสัตวแพทย์ของคุณทันที
- หากคุณอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ทะเลสาบ หรือสระว่ายน้ำเด็ก ให้สุนัขของคุณลงไปแช่น้ำเพื่อทำให้ร่างกายเย็นลง หรือคุณสามารถใช้ผ้าหรือผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นเพื่อช่วยให้เจ้าตูบคลายร้อนได้ วางผ้าชุบน้ำเย็นลงบนคอ รักแร้ และบริเวณระหว่างขาหลังของเขา และคุณยังสามารถใช้น้ำเย็นลูบหูและอุ้งเท้าของเจ้าตูบได้ด้วย
- หากสุนัขยังมีสติอยู่และกระหายน้ำ ให้เขาดื่มน้ำสะอาดเย็นๆ ค่อยๆ ให้เขาดื่ม เพราะเขาอาจสำลักเข้าปอดได้ หากเจ้าตูบดื่มน้ำไม่ได้หรือไม่ยอมดื่ม หรือกลืนน้ำลงไปไม่ได้ ให้ใช้วิธีหยดน้ำที่ลิ้นของเขาแทน ห้ามให้สุนัขกินก้อนน้ำแข็ง เพราะอาจทำให้อุณหภูมิของเขาลดลงกะทันหันเกินไปจนเกิดอาการช็อคได้
- พาสุนัขไปหาสัตวแพทย์ หากคุณยังไม่ได้พาสุนัขไปหาสัตวแพทย์ ให้โทรแจ้งสัตวแพทย์ล่วงหน้าเพื่อให้พร้อมรักษาเจ้าตูบทันทีที่คุณไปถึง
การป้องกันโรคเพลียแดดในสุนัข
แน่นอนว่ากันไว้ดีกว่าแก้ คุณสามารถช่วยสุนัขของคุณให้ห่างไกลจากอาการร้อนเกินไปได้ด้วยหลักปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยง่ายๆ เช่น การงดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่อากาศร้อนหรือชื้นมากเกินไป ให้เจ้าตูบพักในที่ร่มและดื่มน้ำมากๆ เมื่ออยู่นอกบ้าน และห้ามทิ้งสุนัขไว้ในรถโดยเด็ดขาด แม้ว่าคุณจะจอดรถในที่ร่มและเลื่อนกระจกลงแล้วก็ตาม ในวันที่อากาศไม่ร้อน อุณหภูมิระหว่าง 21.1 - 26.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิในรถที่จอดไว้อาจสูงถึง 48.9 องศาเซลเซียสภายในไม่กี่นาที ทำให้เกิดสภาวะที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งที่จะปล่อยสุนัขทิ้งไว้ในรถ แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม
หากสุนัขของคุณต้องการเผาผลาญพลังงานและต้องทำกิจกรรมเพื่อเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยให้เจ้าตูบสงบลง คุณสามารถพาเขาไปว่ายน้ำ หรือปล่อยให้เขาวิ่งเล่นในสนามหญ้าที่เปิดเครื่องฉีดน้ำก่อนกลับเข้าบ้าน นอกจากนี้คุณยังสามารถใช้ผ้าคลุมหรือเสื้อกั๊กที่ช่วยทำให้เย็นเพื่อให้สุนัขคลายร้อนโดยที่ไม่ต้องเปียกน้ำ และหากสุนัขของคุณมีขนยาวหรือขนหนา ลองพาเขาไปตัดขนให้สั้นเพื่อรับกับอากาศในฤดูร้อน อย่าลืมเหลือความยาวของขนให้พอที่จะปกป้องผิวของเจ้าตูบจากแสงแดดด้วย
นอกจากนี้ หากคุณพาสุนัขของคุณออกไปเดินเล่น คุณควรพาเขาออกไปเดินในช่วงที่อากาศยังไม่ร้อน เช่น ในตอนเช้าตรู่หรือในตอนเย็น (อย่าลืมว่าทางเดินเท้าและพื้นถนนอาจทำให้อุ้งเท้าของสุนัขของคุณไหม้ได้) อย่าลืมพกน้ำไปด้วยและให้เจ้าตูบหยุดพักเป็นช่วงๆ หากคุณพาสุนัขไปวิ่ง พยายามอย่าหักโหมจนเกินไป เมื่ออากาศร้อนขึ้น การวิ่งออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลูกสุนัขของคุณ
หากคุณพาสุนัขของคุณออกไปล่าสัตว์หรือเดินป่า หรือถ้าเจ้าตูบต้องทำงานอย่างเช่น การต้อนฝูงแกะหรือฝูงวัว อย่าลืมให้สุนัขของคุณหยุดพักบ่อยๆ ในร่มและให้เจ้าตูบดื่มน้ำสะอาดมากๆ ลองใช้วิธีนำน้ำมาลูบตัวสุนัขหรือใช้เสื้อกั๊กระบายความร้อนในระหว่างที่เจ้าตูบทำกิจกรรม และหมั่นคอยสังเกตอาการร้อนเกินไปในระยะเริ่มแรกของเจ้าตูบ อย่าลืมว่าสุนัขทำงานมักจดจ่ออยู่กับงานที่เขาทำจนลืมไปว่าพวกเขาต้องการพักผ่อนและคลายร้อนด้วย จึงเป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องเฝ้าสังเกตสุนัขของคุณและคอยให้เจ้าตูบหยุดพักเพื่อเป็นการรักษาสุขภาพของเขาให้แข็งแรง
สุดท้ายนี้ อย่าลืมวางแผนให้สุนัขของคุณคลายร้อนหากเกิดเหตุการณ์ไฟดับหรือเครื่องปรับอากาศไม่ทำงาน สำหรับตัวคุณเองแล้วคุณอาจแค่รู้สึกไม่สบายตัว แต่สำหรับสุนัขของคุณ เขาจะรู้สึกแย่กว่า เพราะร่างกายของเจ้าตูบโดยปกติมีอุณหภูมิสูงกว่าคุณมากอยู่แล้ว หากคุณมีแผนไปเที่ยวสถานที่เย็นๆ สักแห่ง อย่าลืมพาสุนัขของคุณไปด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว คุณอาจพาเจ้าตูบไปฝากโรงแรมสุนัขจนกว่าบ้านจะเย็นและปลอดภัยที่จะพาเจ้าตูบกลับไปได้
ตอนนี้เมื่อคุณมีความรู้เกี่ยวกับวิธีสังเกตอาการร้อนเกินไปในสุนัข วิธีรับมือและวิธีป้องกันตั้งแต่แรก คุณก็พร้อมแล้วที่จะต้อนรับฤดูร้อนนี้อย่างสนุก ปลอดภัย และมีความสุขกับเพื่อนสี่ขาของคุณ
ประวัติผู้เขียน
Jean Marie Bauhaus
Jean Marie Bauhaus เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงและเขียนบล็อกเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในเมืองทัลซา รัฐโอคลาโฮมา เธอมักเขียนหนังสือโดยมีบรรดาเพื่อนขนปุยคอยดูแล